ฮอร์โมนที่สมดุล...กุญแจสำคัญสู่การชะลอวัย : Balance of Hormones : Key of well-being
เรื่องของ “ฮอร์โมน” มักจะเป็นเรื่องที่เราได้ยินกันบ่อย ๆ เมื่อพูดถึงเรื่องราวของสุขภาพ นั่นเป็นเพราะฮอร์โมนมีความสำคัญต่อร่างกายของเราทุกคน และเกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานในร่างกายเราทุกระบบ
ฮอร์โมน (Hormones) คือ อะไร
ฮอร์โมนเป็นสารชีวเคมีที่ร่างกายของเราสร้างขึ้น เพื่อทำหน้าที่ที่แตกต่างกันในร่างกาย ตั้งแต่เราเกิดจนกระทั่งเราตายไป บริเวณหรืออวัยวะที่สร้างเจ้าฮอร์โมนต่าง ๆ เหล่านี้ มีหลายตำแหน่ง ไม่ว่าจะเป็นบริเวณต่อมใต้สมอง ต่อมไทรอยด์ ตับอ่อน ต่อมหมวกไต หรือแม้แต่บริเวณที่เรารู้จักกันดี ก็คือ อัณฑะและรังไข่ เราเรียกรวม ๆ กันว่า ต่อมไร้ท่อนั่นเอง
การที่เราอายุมากขึ้นทั้งผู้หญิงและผู้ชายฮอร์โมนมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
เมื่อเราอายุมากขึ้นฮอร์โมนหลาย ๆ ตัวจะเริ่มเปลี่ยนแปลงไป นับไปตั้งแต่ช่วงวัยรุ่นซึ่งเป็นวัยที่เราเห็นการเปลี่ยนแปลงมากทั้งทางร่างกายและจิตใจ ซึ่งเป็นผลมาจากฮอร์โมนเพศที่เพิ่มมากขึ้น แต่หลังจากนั้น โดยส่วนใหญ่เราจะพบว่าฮอร์โมนหลาย ๆ ตัว เช่น โกรทฮอร์โมน (Growth hormone) ฮอร์โมนทั้งเพศหญิง (Estrogen and Progesterone) เพศชาย (Testosterone) ฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต (DHEA)
หรือแม้แต่ ฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ที่ช่วยควบคุมการนอนหลับของเราให้ดีนั้น กลับค่อย ๆ ลดลง โดยเฉพาะเมื่ออายุของเราเลยวัยประมาณ 35-40 ปีไป
เราจะทราบได้อย่างไรว่าร่างกายของเรามีภาวะขาดฮอร์โมน หรือ ฮอร์โมนผลิตได้น้อยลงไปจากเดิม ?
การขาดฮอร์โมนหรือมีระดับฮอร์โมนที่ไม่สมดุลในร่างกาย มักแสดงทั้งอาการและอาการแสดงออกมาให้เราเห็น มีได้ตั้งแต่อาการทั่ว ๆ ไปที่ไม่จำเพราะกับการขาดฮอร์โมนหรือพร่องฮอร์โมนชนิดใด เช่น
เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย ไม่สดชื่น สมองไม่แล่น นอนไม่ค่อยหลับ หรือแม้แต่ปัญหาของน้ำหนักเพิ่มง่ายแต่ลดยาก
ส่วนอาการที่จำเพาะหรือพอที่จะบอกได้ว่าเราน่าจะขาด หรือ พร่องฮอร์โมนตัวไหน ที่สำคัญ ๆ ได้แก่
1. ฮอร์โมนทั้งเพศหญิง (Estrogen and Progesterone)
ปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศหญิงเกิดขึ้นได้ทุกช่วงอายุ แต่มักพบได้บ่อยในผู้หญิงที่เข้าสู่วัยใกล้หมดประจำเดือน (Perimenopause) และวัยหมดประจำเดือน หรืออีกชื่อหนึ่ง คือ วัยทอง (Menopause) นั่นเอง อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ประจำเดือนที่มาไม่ปกติ ไม่สม่ำเสมอ (ในคนที่ยังไม่หมดประจำเดือน) อาการร้อนวูบวาบตามตัว เหงื่อออกมาในเวลากลางคืน นอนไม่หลับ หรือหลับแต่ไม่สนิท อารมณ์แปรปรวน หงุดหงิดง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิ วิตกกังวล ผิวบางลง มีริ้วรอยมากขึ้น น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นทั้ง ๆ ที่ทานอาหารและออกกำลังกายเหมือนเดิม บางคนอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย ปัสสาวะเล็ด กลั้นลำบาก ช่องคลอดแห้ง ความรู้สึกทางเพศลดลง นอกจากนี้ยังรวมไปถึง การมีความหนาแน่นของมวลกระดูกที่ลดลงจากเดิมด้วย
2. ฮอร์โมนเพศชาย หรือ เทสโทสเทอโรน (Testosterone)
อาการที่บอกว่าระดับเริ่มต่ำลง หรือ ขาดฮอร์โมน ได้แก่ สมรรถภาพทางเพศ ความรู้สึกทางเพศที่ลดลง การแข็งตัวของอวัยวะเพศลดลง ไขมันเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะบริเวณหน้าท้อง ในขณะเดียวกันกล้ามเนื้อก็เริ่มลดลง หงุดหงิดง่าย ไม่มีเรี่ยวแรง ไม่กระฉับกระเฉง ขาดความมั่นใจและสมาธิ เป็นต้น
3. ส่วนฮอร์โมนที่สำคัญตัวอื่น ๆ ที่สำคัญที่พบได้บ่อย เช่น
– ปัญหาจาการที่ฮอร์โมนไทรอยด์ทำงานน้อยลง (Hypothyropidism / Subclinical Hypothyroidism) ทำให้กระบวนการเผาผลาญในร่างกายเราต่ำลง อ้วนง่ายขึ้น เหนื่อยเพลีย ๆ เป็นคนเชื่องช้า ไม่กระฉับกระเฉง ขี้หนาวง่าย เป็นต้น
– ปัญหาฮอร์โมนจากต่อมหมวกไต (Adrenal hormones) ได้แก่ ฮอร์โมนคอร์ต์ซอล (Cortisol) และ ดีเอชอีเอ (DHEA) ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวนี้ทำหน้าที่หลายอย่างในร่างกาย แต่จะเกี่ยวข้องกับเรื่องของความเครียด (Stress) หากเราเป็นคนที่ต้องเผชิญหน้ากับความเครียดอยู่บ่อย ๆ เป็นระยะเวลาที่นาน จะทำให้ฮอร์โมนทั้ง 2 ตัวนี้ลดต่ำลง อาการที่เด่นชัด คือ อ่อนเพลียเรื้อรังแบบที่หาสาเหตุอื่นไม่เจอ เป็นภูมิแพ้ง่าย เจ็บป่วยไม่สบายบ่อย ๆ ปวดเมื่อยตามตัวหลาย ๆ ตำแหน่ง โดยหาสาเหตุอื่น ๆ ไม่พบ เป็นต้น
แนวทางในการดูแลผู้ที่มีปัญหาความผิดปกติเกี่ยวกับฮอร์โมนแบบองค์รวมที่สำคัญ ได้แก่
1) แนะนำเข้ามาปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อพูดคุยซักประวัติอย่างละเอียด ตรวจร่างกาย และตรวจทางห้องปฏิบัติการณ์เพื่อดูระดับฮอร์โมนที่เกี่ยวข้อง
2) หลังจากที่ทราบปัญหาของฮอร์โมนแต่ละตัวว่ามีอะไรบ้างนั้น แพทย์จะให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปรับเปลี่ยนแนวทางการใช้ชีวิตในแต่ละวัน (Lifestyle modification) เช่น เรื่องของอาหารการกิน โภชนาการที่เกี่ยวข้องกับฮอร์โมนต่าง ๆ การออกกำลังกายอย่างไรให้เหมาะสมกับสุขภาพของแต่ละบุคคล การนอนหลับพักผ่อน รวมไปถึงวิธีการรับมือกับความเครียด เป็นต้น
3) ในกรณีที่คนไข้มีปัญหาของการขาดฮอร์โมนและมีอาการความผิดปกติที่ชัดเจนมากจนรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน แพทย์จะพิจารณาให้การรักษาโดยการให้ฮอร์โมนทดแทนแบบธรรมชาติเพื่อทดแทนฮอร์โมนที่ขาดหายไป ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของคนไข้ในแต่ละรายไป
4) ใช้สารอาหารที่มาจากธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็น วิตามิน แร่ธาตุ สารสกัดจากพืช สมุนไพรต่าง ๆ ในรูปแบบของอาหารเสริมเฉพาะบุคคล (Personalized Dietary Supplements) ที่ผ่านการรับรองทั้งในด้านของวัตถุดิบและขั้นตอนการผลิตที่ได้คุณภาพระดับสากล ถือว่าเหมาะสมและตรงจุดกับปัญหาที่คนไข้เป็นอยู่มากที่สุด
.
5) ติดตามดูแลรักษากับแพทย์อย่างใกล้ชิดเป็นระยะ ๆ เพื่อผลการรักษาที่ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
.
เนื้อหาโดย…
นพ.เสฏฐวุฒิ งามเมธิชัยวงศ์